จังหวัดนครนายก

รายละเอียด

แนะนำจังหวัดนครนายก

    นครนายกเป็นจังหวัดหนึ่งในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง พื้นที่ของนครนายกปรากฏหลักฐานว่าเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ในยุคนั้น เช่น ขวานหินทั้งชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า ลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว หินดุ แท่นหินเขียว แวดินเผา ขวานสำริด สันนิษฐานว่านครนายกเคยเป็นเมืองโบราณที่มีอายุสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยในสมัยทราวดี จากแหล่งโบราณ “บ้านดงละคร” ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองนครนายกไปทางทิศใต้ระยะทาง 8 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินดินสูงคล้ายเกาะ เนื้อที่ประมาณ 6 ตารางกิโลเมตร มีคันดินสูงล้อมรอบเป็นวงรี ด้านนอกคันดินมีคูน้ำล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง มีประตูเข้าออก 4 ประตู โดยเมืองนี้อาจมีพัฒนาการและอายุร่วมสมัยกับเมืองศรีมโหสถในจังหวัดปราจีนบุรี และเมืองพระรถในจังหวัดชลบุรี ซึ่งโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน ประกอบด้วย ระฆังหินสมัยทราวดี พระพุทธรูปสมัยลพบุรี ภาชนะดินเผาสมัยสุโขทัย และอยุธยา เป็นต้น
         ในปี พ.ศ. 1893 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยากำหนดให้เมืองนครนายกเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันออก (เมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศเหนือ เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศใต้ และเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันตก ระยะทางจากเมืองหน้าด่านถึง ราชธานีกรุงศรีอยุธยาใช้เวลาเดินทาง 2 วัน) ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ตัดเขตท้องที่เมืองลพบุรีทางตะวันออกกับเขตท้องที่เมืองนครนายกทางตะวันตก รวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พ.ศ. 2445 ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ เรียกว่า การปกครองมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งมณฑลปราจีนบุรี ประกอบด้วย เมืองปราจีนบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครนายก เมืองพนมสารคาม เมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมือง บางละมุง ในปี พ.ศ. 2486 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ให้ยุบรวมอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ไปรวมกับจังหวัดสระบุรี และให้ยุบรวมอำเภอเมืองนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลีไปรวมกับจังหวัดปราจีนบุรี
         เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489 มาตรา 6 กำหนดให้แยกอำเภอนครนายก อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี ออกจากการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี กับให้แยกอำเภอบ้านนา ออกจากการปกครองของจังหวัดสระบุรี จัดตั้งเป็นจังหวัดขึ้น เรียกว่า จังหวัดนครนายก
 
         ประวัติของชื่อ “นครนายก” มีข้อสันนิษฐาน 2 ประการ ดังนี้ ในสมัยก่อนดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏมีไข้ป่าชุกชุมผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นจนเกือบเป็นเมืองร้าง ต่อมามีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าในยุคสมัยใด (แต่ก่อนสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะชื่อเมืองนครนายกปรากฏมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองแล้ว) ต้องการที่จะจูงใจราษฎรให้เข้ามาหักร้างถางพงทำมาหากินอยู่อาศัยในบริเวณนี้จึงให้ยกเว้นเก็บอากรค่านา จึงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองนา–ยก” และเป็นเมืองนครนายก เหตุผลที่สอง คือ สมัยกรุงศรีอยุธยา การปกครองในเมืองหลวงใช้ระบบจตุสดมภ์ ส่วนการปกครองหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก ในหัวเมืองด้านเหนือมี
สมุหนายก ปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ในหัวเมืองด้านใต้มีสมุหกลาโหมปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร เมืองนครนายกนั้นเดิมอยู่ในสังกัดสมุหกลาโหม ภายหลังถูกโอนให้อยู่ในสังกัดสมุหนายก พื้นที่นี้จึงได้ชื่อว่านครนายกนับแต่นั้นเป็นต้นมา
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
 
รูปช้างชูรวงข้าว
     ตราสัญลักษณ์จังหวัด “นครนายก” เป็นรูปช้างชูงวงเกี่ยวรวงข้าว ที่สื่อถึงว่าครั้งหนึ่งนครนายกเคยเป็นเมืองที่มีช้างมาก โดยปัจจุบันมีสถานที่และชื่อวัดที่เกี่ยวข้องอยู่หลายแห่ง อาทิ ตำบลท่าช้าง วัดท่าช้าง และอำเภอเมืองนครนายกเคยเป็นท่าข้ามของโขลงช้างมาก่อน ส่วนรวงข้าวและกองฟางนั้น หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร
รูปวงกลม คือ ความกลมเกลียวและความสามัคคีของคนจังหวัดนครนายก
ช้างชูรวงข้าว คือ จังหวัดนครนายกนั้นเป็นจังหวัดที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มีช้างมาก โดยช้างของจังหวัดนครนายก เป็นช้างที่มีความสำคัญในการคัดเลือกช้างเพื่อไปทำศึกสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา
รวงข้าว คือ อาชีพหลักของชาวนครนายกที่ส่วนใหญ่มีอาชีพการทำนาและได้ข้าวอุดมสมบูรณ์ดี สามารถส่งไปยังเมืองหลวงได้
 
จังหวัดนครนายกใช้อักษรย่อ “นย”
ชื่อภาษาอังกฤษ “NAKHONNAYOK”

คำขวัญประจำจังหวัด
“เมืองในฝันที่ใกล้กรุง ภูเขางาม น้ำตกสวยรวยธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ”

ธงประจำจังหวัด
 
    ที่ตั้ง: จังหวัดนครนายกนี้ตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 14 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 101 องศาตะวันออก มีระยะทางจากจากกรุงเทพมหานครตามถนนรังสิต-นครนายก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305) ผ่านอำเภอองครักษ์ถึงจังหวัดนครนายก ระยะทาง 105 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 2,122 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 1,326,250 ไร่
    แม่น้ำนครนายก สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบ ทางตอนเหนือและตะวันออกเป็นภูเขาสูงชันในเขตอำเภอบ้านนา อำเภอเมืองนครนายก และอำเภอปากพลี ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับอีก 3 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี นครราชสีมา และปราจีนบุรี ซึ่งมีเทือกเขาติดต่อกับทิวเขาดงพญาเย็น มียอดเขาสูงที่สุดของจังหวัดคือ ยอดเขาเขียวมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,351 เมตร ส่วนทางตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียกว่า "ที่ราบกรุงเทพฯ" ลักษณะดินเป็นดินปนทรายและดินเหนียวเหมาะแก่การ ทำนา ทำสวนผลไม้ และการอยู่อาศัย

การปกครอง ส่วนภูมิภาคของจังหวัดนครนายกแบ่งออกเป็น 4 อำเภอ 41 ตำบล 403 หมู่บ้าน
 
    1. อำเภอเมืองนครนายก    
อำเภอเมืองนครนายก เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ ธุรกิจ และวัฒนธรรมของจังหวัดนครนายก

    2. อำเภอปากพลี
แต่เดิมอำเภอนี้ชื่อว่า อำเภอบุ่งไร่ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอหนองโพธิ์ โดยรวมบ้านหนองโพธิ์และบ้านหนองน้ำใหญ่มาตั้งเป็นชื่อสถานที่ราชการ แต่เอาเฉพาะคำว่า "หนองโพธิ์" และในปีเดียวกันได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านท่าแดง ตำบลปากพลี พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อำเภอเขาใหญ่ เพราะท้องที่ได้ครอบคลุมถึงเขาใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอปากพลี ตามชื่อตำบลที่ตั้ง
เหตุที่ชื่อ "ปากพลี" นั้น เดิมในสมัยโบราณประชาชนส่วนใหญ่สัญจรไปมาโดยทางเรือ เนื่องจากถนนหนทางยังไม่ได้รับความสะดวกเช่นสมัยนี้ และบริเวณปากคลองยางในฤดูน้ำหลากน้ำจะหมุนวน เรือที่ผ่านไปมามักจะร่มได้รับอันตราย บางคนอาจถึงแก่ชีวิต ดังนั้นประชาชนจึงร่วมใจกันสร้างศาลขึ้นเพื่อทำ "พลี" หรือ "พลีกรรม" เป็นการทำบุญเซ่นสรวงแก่เทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ปากคลอง จึงเรียกชื่อคลองบริเวณนั้นว่า "คลองปากพลี" และใช้เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านและตำบลปากพลีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2457 ได้มีกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ คำว่า "อำเภอปากพลี" จึงตั้งเป็นชื่อทางราชการ เมื่อมีการปรับปรุงเขตตำบลใหม่ ได้มีการแยกเขตพื้นที่ตำบลปากพลีออกเป็น 2 ตำบล และตั้งตำบลใหม่เรียกว่าตำบลเกาะหวาย ที่ว่าการอำเภอจึงตั้งอยู่ในเขตตำบลเกาะหวาย

    3. อำเภอบ้านนา    
แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า อำเภอท่าช้าง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2446 ตามประวัติอำเภอนี้เคยเป็นแขวงเมืองนครนายก ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเฉพาะท้องที่อำเภอบ้านนาเคยเป็นที่ตั้งกองโพนช้างหรือกองจับช้างป่าไว้เป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกสงครามมาแต่สมัยโบราณ ปรากฏว่ายังมีหลักฐานอยู่ที่บ้านมะเฟือง ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา ซึ่งในอดีตเมื่อ 30 กว่าปี หมู่บ้านนี้มีชื่อเรียกว่า "โรงช้าง" และยังมีเศษเสาโรงช้างของกรมพาหนะคชบาล เหลือซากอยู่เป็นหลักฐาน แต่ในปัจจุบันเสาโรงช้างได้ชำรุดผุพังไปจนหมดสิ้นแล้ว
อำเภอบ้านนาเคยโอนไปขึ้นอยู่กับจังหวัดสระบุรีครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติยกเลิกจังหวัดนครนายกโดยให้อำเภอต่าง ๆ ไปขึ้นอยู่กับจังหวัดปราจีนบุรี ยกเว้นอำเภอบ้านนาให้ไปขึ้นกับจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนครนายกขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 อำเภอบ้านนาจึงได้กลับมาขึ้นกับจังหวัดนครนายกจนกระทั่งปัจจุบัน

    4. อำเภอองครักษ์
ที่มาของชื่ออำเภอองครักษ์มีตำนานว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้นแถบนี้ และได้พักประทับแรม ณ บริเวณริมแม่น้ำนครนายกซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อองครักษ์ในปัจจุบัน ระหว่างประทับแรมอยู่นั้นนายทหารราชองครักษ์ได้ป่วยและเสียชีวิตลง จึงโปรดฯ ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ อำเภอแห่งนี้จึงได้รับการเรียนขานว่า อำเภอองครักษ์
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษให้แก่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามซึ่งมีหม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ เป็นผู้รับมอบ ให้จัดการขุดคลองซอยตัดท้องทุ่งระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายก โดยให้สิทธิ์แก่บริษัทฯ ในการขายที่ดินทั้งสองฝั่งคลองเพื่อจัดเป็นที่นาได้ บริษัทฯ ได้ขุดคลองสายกลางขึ้นสายหนึ่งจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทะลุแม่น้ำนครนายกพร้อมตัดคลองซอยจากทั้งสองฝั่งคลองสายกลางนี้ โดยได้รับพระราชทานนามว่า "คลองรังสิตประยูรศักดิ์" ประตูน้ำปิด-เปิดด้านแม่น้ำเจ้าพระยาได้พระราชทานนามว่า "ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์" ส่วนประตูน้ำทางด้านแม่น้ำนครนายกนั้นพระราชทานนามว่า "ประตูน้ำเสาวภาผ่องศรี"

สถานที่สำคัญในจังหวัดนครนายก
วัดที่สำคัญ
•    วัดคีรีวัน
•    วัดโพธินายก
•    วัดอุดมธานี (พระอารามหลวง)
•    วัดศรีเมือง วัดโบราณติดกำแพงเมืองนครนายก
•    วัดถ้ำสาริกา
•    วัดเจดีย์ทอง
•    วัดเขานางบวช รอยพระพุทธบาทจำลอง
•    วัดบุญนาครักขิตาราม หลวงพ่อเศียรนคร
•    วัดป่าศรีถาวรนิมิต
•    วัดพราหมณี (พระอารามหลวง) หลวงพ่อปากแดง
•    วัดเขาทุเรียน วัดที่ทาด้วยสีชมพูทั้งวัด
•    วัดคีรีวัน พระแก้วมรกตจำลององค์ใหญ่
•    วัดสะแกซึง
•    วัดพระธรรมจักร

สถานที่ท่องเที่ยว
•    พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน
•    น้ำตกวังตะไคร้
•    น้ำตกสาริกา
•    น้ำตกนางรอง
•    พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน
•    อุทยานพระพิฆเนศ
•    ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ
•    วีฟาร์ม
•    สะพานทุ่งนามุ้ย
•    เอเดนฟาร์ม

พระสงฆ์ พระภิกษุ ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพศรัทธาของจังหวัด
•    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (หม่อมราชวงศ์เจริญ ญาณฉนฺโท) – สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และอดีตเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหารและวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
•    พระครูวิมุตยาภรณ์ (เกิด ปริมุตฺโต) (หลวงพ่อเกิด) – พระเกจิดัง และท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แทน จังหวัดนครนายก
•    พระครูพิศาลธรรมประยุต (เกิด ปุณณปัญโญ) – พระเกจิอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสะพาน จังหวัดนครนายก
•    หลวงปู่สนธิ์ สุมโน – อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาคอกสุมมนาราม จังหวัดนครนายก (สรีระไม่เน่าเปื่อย)
•    หลวงปู่สี ฐานิโย – อดีตเจ้าอาวาสวัดพระฉาย (เขาชะโงก) จังหวัดนครนายก (สรีระไม่เน่าเปื่อย)
•    หลวงปู่ชื่น – อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาหัวนา จังหวัดนครนายก (สรีระไม่เน่าเปื่อย)
•    หลวงพ่อแดง – อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าแห จังหวัดนครนายก (ร่างเป็นหิน)


คุณอาจจะชอบ

  • โรงเรียนอนุบาลคุณากร
  • โรงเรียนปิยชาติพัฒนา
  • วัดหลวงพ่อปากแดง
  • เขื่อนขุนด่านปราการชล